ไกลแค่ไหนคือใกล้ เมื่อ "สายตายาว" มองใกล้เท่าไหร่ก็ไม่ชัด

ไกลแค่ไหนคือใกล้ เมื่อ "สายตายาว" มองใกล้เท่าไหร่ก็ไม่ชัด

เคยเห็นเวลาคุณพ่อคุณแม่หรือลุงป้าตายายของตัวเองต้องขยับหนังสือหรือโทรศัพท์ให้เข้าๆ ออกๆ เพื่อให้มองเห็นตัวหนังสือชัดขึ้นกันมั้ย? ลักษณะแบบนี้อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาเริ่มมีอาการสายตายาวซะแล้วล่ะ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการนี้ไม่ได้เป็นแค่กับคนสูงอายุเท่านั้นด้วยนะ ฉะนั้นมาสังเกตตัวเองกันดีกว่าว่าเริ่มมีภาวะสายตายาวแล้วหรือยัง

เช็คลิสต์อาการสายตายาว

  • มองเห็นระยะไกลได้ชัดกว่าระยะใกล้ 
  • มองเห็นภาพซ้อน เพราะต้องเพ่งสายตา
  • ตาเหล่ ตาเข เพราะต้องเพ่งสายตา
  • ตาไวต่อแสง สู้แสงไม่ได้ หรือแสบตาเวลาออกแดด
  • มองเห็นตอนกลางคืนลำบาก
  • ปวดศีรษะ ปวดตา ตาล้า หลังจากอ่านหนังสือหรือต้องเพ่งมองสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ เป็นเวลานาน

สายตายาวเกิดจากอะไร

ภาวะสายตายาวเกิดจากการที่จุดรวมแสงตกกระทบที่ด้านหลังจอประสาทตา ซึ่งมาจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยเกินไป หรือกระบอกตามีขนาดสั้นเกินไป การหักเหของแสงที่เข้าสู่ดวงตาจึงเกิดขึ้นน้อยลง ภาวะนี้อาจมีได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นตามอายุ ที่เรียกกันว่า สายตายาวตามอายุ ซึ่งสายตายาวตามอายุนั้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อรอบดวงตาเริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เลนส์ตาแข็งตัวและสูญเสียความยืดหยุ่นไป จึงไม่สามารถเปลี่ยนรูปร่างและโฟกัสในระยะใกล้ได้ เป็นที่มาของการมองระยะใกล้ไม่ชัดนั่นเอง

วิธีแก้ไขสายตายาว

หากคุณมีค่าสายตาอยู่ที่ 200 (+20) หรืออยู่ห่างจากวัตถุประมาณ 50 เซนติเมตรแล้วยังมองเห็นไม่ชัด แสดงว่าต้องแก้ไขสายตายาวแล้วล่ะ วิธีแก้แบบง่ายๆ คือการตัดแว่นสายตาหรือใส่คอนแทคเลนส์นั่นเอง

เลนส์แว่นที่ใช้สำหรับแก้สายตายาวโดยปกติจะใช้เลนส์ที่เรียกว่าเลนส์นูน เพื่อบีบแสงให้มาตัดกันตรงจอประสาทตาพอดี แต่ในบางครั้งโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ อาจมีปัญหาสายตาที่ซับซ้อน มองทั้งใกล้และไกลไม่ชัด จึงควรใช้เลนส์แว่นแบบที่เรียกว่าเลนส์โพรเกรสซีฟ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดทุกๆ ระยะ โดยไม่ต้องคอยถอดแว่นสายตาออกหรือมองลอดแว่นสายตาเวลามองใกล้ๆ เพื่อไม่ให้เสียบุคลิกและช่วยลดอาการตาล้าจากการเพ่งสายตาด้วย

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดก่อนตัดแว่นสายตาคือการเข้ารับการตรวจสายตาโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกเลนส์แว่นที่เหมาะสมกับตัวเอง และเมื่อใส่แว่นสายตาแล้วต้องไม่ลืมมาตรวจเช็คค่าสายตาอยู่สม่ำเสมอเพื่อปรับค่าสายตาให้เป็นปัจจุบันด้วยนะ

กลับไปยังบล็อก