5 โรคตาที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย

5 โรคตาที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย

ปัญหาเรื่องสายตา เกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติของเมื่อเข้าสู่วัย 60 ทำให้หลายคนมีการเตรียมใจ คิดว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ และปล่อยปละละเลย หวังเพียงคอยรักษาตามอาการเท่านั้น

แต่จริงๆแล้ว รู้หรือไม่ว่า ? ปัญหาทางสายตาไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุทุกคนแต่เกิดในผู้สูงอายุร้อยละ 70 เท่านั้น ดังนั้นยังมีอีกร้อยละ 30 ที่สุขภาพดวงตายังแข็งแรง ถ้าผู้สูงอายุหมั่นตรวจสายตาปีละครั้ง ก็จะสามารถเป็นหนึ่งในร้อยละ 30 นั้นได้ไม่ยาก

เรามาดูกันดีกว่าว่า 5 โรคทางสายตาที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง ปัญหานั้นเกิดจากอะไร และป้องกันอย่างไร อ่านต่อไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ต้อกระจก

โรคนี้เป็นปัญหาสายตาในส่วนของเลนส์แก้วตาขุ่น ส่งผลให้แสงผ่านเข้าตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะเห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้ บางรายมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง หรือมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า ถึงแม้จะปรับแว่นอย่างไรก็ไม่มีท่าทีจะดีขึ้น 

ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คือมีอายุมากขึ้น หรือการได้รับแสงแดดจ้าบ่อยๆ หรือเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น สิ่งที่สามารถชะลอความเสื่อมได้ คือการสวมแว่นกันแดดป้องกันรังสี UV นั่นเองค่ะ

ต้อหิน 

ปัญหานี้นับเป็นปัญหาภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะภาวะเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ และอาการที่ทำให้เราสังเกตได้ว่าเราเป็นต้อหินภาวะเร่งด่วน คือการมองเห็นจำกัดวงแคบลง จากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อยๆ มีอาการปวดตามาก หรือเริ่มเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ และมีอาการตาแดง ร่วมด้วย 

ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนทำลายประสาทตา ส่วนหนึ่งมาจากโรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องโดยกิน ฉีด หรือหยอดตา
หรือเคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน หรือแม้แต่ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัย 40 ปี ควรเริ่มพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงต้อหิน

จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม 

อาการของปัญหานี้ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้น จะเริ่มมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะสูงวัย หรืออยู่ในที่แสงจ้าบ่อยๆ การสูบบุหรี่ และมีภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้บริเวณจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตามัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้เป็นปกติ 

ดังนั้นหากพบความผิดปกติต้องรีบมาพบจักษุแพทย์ และที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ และสวมแว่นกันแดดเป็นประจำเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้สีเขียว สีเหลือง และถั่วตระกูลต่างๆ 

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา 

ปัญหานี้พบได้มากในผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ จนทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอตา ทำให้เลือดและสารต่างๆ รั่วซึมออกมา ตาจะเริ่มมัว และมักพบเลือดออกที่จอตา นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะซีด ก็สามารถมีปัญหาทางสายตานี้ได้ เช่นกัน 

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีปัญหาสายตาสั้นยาวหรือเอียง ก็ยังพบปัญหาค่าสายตาไม่คงที่อีกด้วย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้ปริมาณน้ำตาลส่วนหนึ่งผ่านเข้าไปในเนื้อเลนส์ตา และดูดน้ำเข้าไปมากขึ้น  ทำให้เลนส์ตาบวมกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มที่ค่าสายตาจะเพิ่มมากขึ้น และไม่คงที่ตลอดเวลาดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต หรือไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และผู้ป่วยเบาหวานต้องตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง

ภาวะสายตายาวสูงอายุ 

ภาวะนี้มักพบได้ในบุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สังเกตได้จากการมองเห็นไม่ชัดเจน หรืออ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ระยะใกล้ๆ ไม่ได้ แต่มองไกลได้ปกติ บางคนอาจมีตาพร่า หรืออาการปวดตา 

ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความสามารถในการเพ่งปรับสายตาลดลง เพราะเลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้น พร้อมกับการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน อ่านหนังสือ หรือการใช้งานสมาร์ทโฟน สามารถแก้ไขได้ ด้วยการใช้แว่นสายตายาว หรือเลนส์โปรเกรสซีฟค่ะ ปัจจุบันนี้ยังมีอีกหลายทางเลือกที่สามารถแก้ไขภาวะสายยาวสูงวัยได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนแทคเลนส์ หรือการทำเลสิค

เมื่อเราเริ่มเข้าสู่อายุ 40 ปี ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ในบางโรคหากได้รับการรักษาในระยะแรก ก็สามารถชะลอความเสื่อมทางสายตาได้ อย่างไรก็ตาม หากเริ่มสงสัยว่าสายตาผิดปกติ ให้รีบพบจักษุแพทย์ได้ทันที และถ้ายิ่งมีกำลังใจที่ดีจากลูกหลานนั้น จะยิ่งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมี]สุขภาวะที่ดีและมีความสุขขึ้นได้ค่ะ

กลับไปยังบล็อก